top of page

โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก


ประวัติโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒ ณ ริมแม่น้ำแควน้อย เลขที่ ๓๑๖ หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ให้เปิดสอนได้ถึงระดับ ป.๑-ป.๖ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๓ เลขที่อนุญาต. กจ.๑/๒๕๒๓ ได้ย้ายมาอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำแควใหญ่ ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี บนเนื้อที่ ๒๐๐ ไร่ โดยมูลนิธิจินดา อิ่มจำเรียง ภังคานนท์ บริจาค ๑๕๑ ไร่ และมูลนิธิเด็กเป็นผู้บริจาคที่ดินอีก ๔๙ไร่ พร้อมอาคาร และบ้านพัก เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ เลขที่อนุญาต…… โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เป็นบ้านและโรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาส เช่น ถูกทารุณกรรม กำพร้า ถูกทอดทิ้ง ครอบครัวแตกแยกและยากจน มาอยู่ประจำกินนอนและรับการศึกษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น มี ศ.นพ. ประเวศ วะสี ประธานกรรมการมูลนิธิเด็ก ดำรงตำแหน่งเจ้าของโรงเรียนในนามมูลนิธิเด็ก มีนายพิภพ ธงไชย เป็นผู้ก่อตั้งและผู้จัดการ นางรัชนี ธงไชย เป็นผู้อำนวยการ ชุมชนแห่งนี้สามารถรับเด็กได้สูงสุดจำนวน ๒๕๐ คน ปรัชญาโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก หมู่บ้านเด็กจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ยึดเด็กเป็นสำคัญ โดยใช้ปรัชญาการศึกษาซัมเมอร์ฮิลล์และพุทธศาสนา “ความรัก เสรีภาพ และการปกครองตนเองและการจัดสิ่งแวดล้อมที่เป็นกัลยาณมิตร” เพื่อให้เด็กรู้จักตนเอง รู้จักความสามารถของตนเอง โดยการให้โอกาสเด็กเลือกเรียน มีครูคอยกระตุ้นแนะแนวจนกว่าเด็กจะค้นพบในสิ่งที่เขาชอบ และเขาเกิดอยากจะเรียน การให้โอกาสเด็ก คือ การรอเวลาให้เด็กเกิดฉันทะ ในระหว่างรอเวลานี้ครูต้องใช้พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา คือ การจัดสิ่งแวดล้อมที่เป็นกัลยาณมิตร ในการช่วยให้เด็กพบสิ่งที่เขาอยากเรียนและเรียนอย่างมีความสุขได้ ครูต้องทำงานด้วยความอดทน และมีความหวัง มีกำลังใจที่จะรอถึงวันนั้นของเด็กแต่ละคน แนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยจัดในรูปของชุมชน แบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ ๑. ส่วนของบ้าน ซึ่งมีผู้ใหญ่และเด็กอยู่รวมกัน จัดบรรยากาศเป็นครอบครัวเชิงเดียวที่เด็กต่างวัยอยู่ด้วยกัน ดูแลซึ่งกันและกัน แบ่งงานกันทำ และจัดบรรยากาศภายในบ้านให้น่าอยู่ เสริมความรู้โดยมีห้องสมุดในบ้าน มีพื้นที่โล่งให้เด็กทำกิจกรรมครอบครัวร่วมกัน จัดกระบวนการเรียนรู้ให้คนทุกวัยรู้จักให้อภัยกันและกัน ช่วยกันและกัน ส่วนของบ้านนี้เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตใจและสมาธิ (Heart/Spirit) ๒. ส่วนของโรงเรียน เป็นส่วนที่เด็กเรียนรู้เพื่อการอ่านออกเขียนได้ รู้แหล่งค้นคว้าหาความรู้ต่อได้ คิดเลขเป็น ใช้วิชา Logic คือ พูดหรือคิดอย่างสมเหตุสมผล เด็ก ๆ จะเรียนเรื่องเกี่ยวกับตัวเขา สิ่งแวดล้อมของเขาจากใกล้ตัวสู่ไกลตัว เรียนรู้ระบบนิเวศน์ และสังคมที่เขาอยู่ จนถึงความรู้ระดับสูงต่อไป โดยทางชุมชนสนับสนุนให้เรียนจนถึงระดับปริญญา ส่วนของโรงเรียนเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมอง (Head/ Intellect) ๓. ส่วนของการผลิต เป็นงานเกี่ยวกับศิลปะ งานเฟอร์นิเจอร์ งานปั้น งานขนม งานสกรีน งานระบบเสียง งานเกษตร งานเย็บ งานทอ งานอาหาร ฯลฯ งานเหล่านี้เพื่อการฟื้นฟูและบำบัด นั่นคือ ไม่สนใจในคุณภาพในระยะแรก เพียงเพื่อให้เด็กผ่อนคลาย (Play and Learn) จะเปลี่ยนเป็นงานพื้นฐานหรือทักษะของอาชีพ เมื่อเด็กค้นพบความสุขจากการเล่น ๆ เรียน ๆ ในงานนั้น จนตัดสินใจเลือกเป็นอาชีพ เราจะส่งเรียนต่อหรือส่งไปฝึกกับสถานประกอบการเพื่อหาความชำนาญ (ทักษะ) การเรียนต่อและการฝึกงานขึ้นอยู่กับความถนัดของเด็ก และเด็กต้องตระหนักว่างานต้องมีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค (Hand) กระบวนการเรียนรู้ของหมู่บ้านเด็กในทุกส่วนของชุมชน มุ่งหวังเพื่อพัฒนาสมอง หัวใจ และมืออย่างสมดุลซึ่งกันและกัน ไม่เน้นหนักด้านหนึ่งด้านใดโดยเฉพาะ ดังนั้นหลักสูตรของหมู่บ้านเด็กจึงเรียนวิชาครึ่งวัน (30%) ทำงานหรือเล่นครึ่งวัน (30%) ที่เหลือใช้ชีวิตในบ้าน (40%) การประเมินผล ใช้เกณฑ์การประเมินมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานการศึกษา (สมศ.) แต่ใช้หลักสูตรของสถานศึกษา มีการสอบด้วยแบบทดสอบปีละ ๑ ครั้ง โรงเรียนจะประเมินจากผลงานของเด็กที่ปฏิบัติจริง โดยการจัดเก็บผลงานหรือระบบ Port Folio จากการสังเกตุ การนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน บางชิ้นงานประเมินจากรายได้ที่ขายได้จริง ความสำเร็จของหมู่บ้านเด็กอยู่ที่เด็กเรียนรู้อยู่ในโรงเรียนอย่างมีความสุข และทุกตารางนิ้วในชุมชนนี้คือห้องเรียน เมื่อเด็กจบไปเด็กสามารถสร้างครอบครัวที่อบอุ่นได้ ไม่ใช่ร่ำรวยด้วยเงินและวัตถุ แต่รู้จักรักและแบ่งปันด้วยตระหนักในคุณค่าของความพอเพียงของการดำเนินชีวิต

RECENT POSTS:
SEARCH BY TAGS:
No tags yet.
bottom of page